Thursday 21 May 2015

ชวนคุยเรื่องฟิล์มสี กับกระบวนการ C-41 ตอนที่ 1

ห่างหายไม่ได้เคาะแป้นในนี้มานานพอสมควรที่เดียว ช่วงนี้รู้สึกว่าคนกลับมาใช้ฟิล์มกันมากขึ้นโดยเฉพาะฟิล์มสี เห็นดราม่ากันบ่อย ทั้งเรื่องฟิล์ม เรื่องล้าง เรื่องสแกน เรื่องน้ำยา เลยกลับมารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ไว้ซักหน่อยดีกว่า

ฟิล์มสี ทุกคนพอคุ้นเคยกันละ เรามาเริ่มต้นที่คำว่า C-41 กันก่อนดีกว่า

C-41 คืออะไร

C-41 ไม่ใช่ชื่อน้ำยา จริงๆแล้วมันเป็นชื่อของทั้งกระบวนการในการล้างฟิล์มสีแบบหนึ่งที่เป็นมาตรฐานมาจนถึงปัจจุบัน คนที่คิดค้นคือบริษัทโกดัก ในปีคศ.1972 ซึ่งมาแทนกระบวนการ C-22 แบบเก่า


เคยสังเกตกันไหมว่า ข้างกลักฟิล์มโกดักจะมีแต่คำว่า C-41 แต่ของฟูจิ จะเป็นคำว่า CN-16 กับ C-41 สองอย่าง รหัสพวกนี้เป็นตัวระบุ กระบวนการล้าง (Develop) ว่าต้องใช้กระบวนการล้างแบบใด หมายถึงทั้งกระบวนการนะครับ ไม่ได้หมายถึงน้ำยาที่ใช้

ความแตกต่างของรหัสบนกลักฟิล์ม เพื่อระบุกระบวนการล้างฟิล์มของฟูจิกับโกดัก


เหตุที่โกดักระบุไว้ตัวเดียว เพราะเค้าเป็นคนคิดค้นกระบวนการล้างฟิล์มสีขึ้นมาแล้วตั้งขื่อมันว่า C-41 ประมาณปี ค.ศ.1972 เพื่อมาแทนที่กระบวนการเก่าของเค้าเองคือ C-22 ทั้งนี้เพราะกระบวนการใหม่มีคุณภาพมากกว่า


ทีนี้พอผู้ผลิตคู่แข่งอย่างฟูจิ เมื่อผลิตน้ำยาฟิล์มออกมาสำหรับกระบวนการ C-41 ก็เลยตั้งชื่อเป็นกระบวนการของตัวเองคือ CN-16 แต่มันก็คือ C-41 ของโกดักนั่นล่ะ ทีนี้กลัวแลปจะสันสนก็เลยต้องใส่ C-41 ไปด้วย

ส่วนเจ้าอื่นอย่าง Konica ก็ตั้งขื่อเป็น CNK-4 หรือ Agfa ยักษ์ใหญ่อีกเจ้า เรียกชื่อของตัวเองว่า AP-70 ซึ่งทุกตัวคือกระบวนการเดียวกันหมดคือ C-41 นั่นเอง

ผู้ผลิตน้ำยาล้างฟิล์มสี C-41 มีหลายเจ้าด้วยกัน บางเจ้าก็เลิกผลิตไป บางเจ้าก็ยังทำอยู่  แต่กระบวนการทำงานก็เหมือนๆกันหมด แต่ฉลากปะหน้าขวดหน้าแกลลอนก็มักจะตั้งชื่ออ้างอิงตามระบบของตัวเองข้างต้นน่ะครับ แต่ตอนหลังในระบบมินิแลปเค้าจะมาใช้เป็น N1, N2, N3, N4 โดย N ก็ย่อมาจาก Negative นั่นล่ะครับเพื่อกันความสับสนครับ (จากเดิมเป็น CD, Bleach, Fix, Stb)

ฟิล์มสี หรือฟิล์มที่มีรหัส C-41…

ในเมื่อกระบวนการล้างด้วยน้ำยา C-41 มันออกแบบมาเป็นมาตรฐานคงที่ ดังนั้นฟิล์มที่จะใช้ ก็ต้องเป็นฟิล์มที่ถูกสร้างมาเพื่อใช้กับน้ำยา วิธีง่ายๆก็ดูที่กล่องฟิล์มนั่นล่ะครับ มีตัวอักษร C-41 อยู่ไหม ถ้ามีก็คือใช้น้ำยานี้ล้างได้

แต่ฟิล์ม C-41 ไม่ได้มีแต่ฟิล์มสีเท่านั้นนะครับ ยังมีฟิล์มขาวดำบางตัวที่ผลิตออกมาเพื่อใช้กับระบบนี้ด้วย เช่น Kodak BW400CN (แต่ตอนนี้เลิกทำไปแล้ว) หรือของทางฝั่ง Ilford XP2 Super ที่ยังมีให้ใช้อยู่ ถึงจะล้างด้วยกระบวนการนี้ได้นะครับ ถ้าเป็นพวกฟิล์มขาวดำแท้ๆ คุณเอามาล้างด้วย C-41 นี่ไม่รับประกันผลงานครับ

ฟิล์ม C-41 มันถูกผลิตมาอย่างฉลาดนะครับ โดยอาศัยสารเคมีที่มีความไวต่อแสงสีแต่ละสี มาเรียงกันเป็นชั้นๆ ด้วยการเคลือบหรือย้อมสี (ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า dye นะครับ) แสงสีหลักๆก็ น้ำเงิน เขียว แดง ชั้นสารไวแสงจะเป็นสารเคมีที่เรียกว่า dye couplers โดยเมื่อนำไปผ่านกระบวนการล้างจะให้สี yellow, magenta และ cyan ตามลำดับ ใต้ชั้นของสารไวแสงสีน้ำเงินซึ่งอยู่บนสุด จะมีชั้นของสารหรือฟิลเตอร์แทรกอยู่ โดยจะเป็นสารกลุ่ม Colloidal silver ซึ่งความเจ๋งมันอยู่ตรงนี้ล่ะครับ

ซิลเวอร์คอลลอยด์ เป็นสารที่ไวต่อแสงสีน้ำเงินเล็กน้อย ไอ้เจ้านี่จะเป็นตัวกรองแสงสีฟ้า ไม่ให้ผ่านไปสู่ชั้นสารไวแสงด้านล่าง ดังนั้นสารไวแสงด้านล่างก็จะทำปฏิกิริยากับแสงเฉพาะโดยไม่มีแสงสีน้ำเงินมายุ่งเกี่ยวเลย

นอกจากนี้ในการผลิตฟิล์ม ผู้ผลิตอาจใส่ชั้นสารเพิ่มไปอีก เช่นสารกัน UV หรือชั้นสารไม่ไวแสง เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างชั้นของสารไวแสงให้ห่างกัน เหล่านี้เพื่อสร้างลักษณะเฉพาะของฟิล์มยี่ห้อนั้นๆให้ต่างจากเจ้าอื่น เพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับฟิล์มของตัวเองแต่ละรุ่น

แทรกนิดหนึ่งนะครับ ตัวซิลเวอร์คอลลอยด์เนี่ย เนื่องจากแร่เงินมันมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียได้ ก็มีคนหัวใสเอามาใส่ในยาเสริมอาหาร หรือเครื่องสำอางบางตัวด้วยนะครับ ทั้งที่จริงๆมันเป็นพิษ แล้วก็แพร่ไปตามอวัยวะต่างๆได้เร็วมาก มีคนเอามาทาผิวแล้วกลายเป็นสีเทาอมฟ้ากันไปก็มี

ผมขอทับศัพท์ละกันนะครับว่า คาแรกเตอร์ของฟิล์ม มันเกิดจากผู้ผลิตฟิล์ม สิ่งที่ทำให้ฟิล์มแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน ก็คือชั้นสารเคมีที่เคลือบบนฟิล์ม ทำความเข้าใจตรงนี้ดีๆนะครับ... เนื่องจากน้ำยา C-41 มันเป็นมาตรฐานคงที่มันไม่สามารถเล่นกับคอนทราสได้เหมือนกับฟิล์มขาวดำที่ผมได้เคยเขียนไป ดังนั้นการที่เราต้องการลักษณะเฉพาะ (Character) ของฟิล์ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอนทราสท์ ความอิ่มสี เราต้องมาเลือกที่ฟิล์มว่ายี่ห้อนั้น รุ่นนี้เป็นยังไง ดูอย่าง Portra  ของ Kodak สิครับ ยังมีรุ่นย่อยห้อย VC ไว้ด้านหลัง เพราะเพิ่มความอิ่มสีและคอนทราสเข้าไป 

สรุปน้ำยา C-41 ไม่มีสูตรโปรเฟสชั่นนอล สูตรโคตรเทพ สูตรดีที่สุดในสามโลก หรือสูตรเพิ่มลดคอนทราสใดๆเลย อย่าหลงเชื่อข้อมูลมั่วๆจากบางที่ คาแรกเตอร์ของฟิล์ม มันเกิดจากผู้ผลิตฟิล์ม สิ่งที่ทำให้ฟิล์มแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน ก็คือชั้นสารเคมีที่เคลือบบนฟิล์ม ฝรั่งเวลาทำงานกับฟิล์มสี เค้าเลือกฟิล์มก่อนครับ มาสเตอร์ท่านนี้กล่าวไว้ในหนังสือ The Art of Photography ว่า

Choosing A Color Film
Most traditional film users choose a color film based on color
balance, ignoring contrast completely. I believe this is an incorrect
approach. Though it may seem strange at first, your
choice of color film should be based on its black-and-white
characteristic: contrast. The reason is simply that you maintain
more options by choosing your film based on contrast
levels rather than on color balance. You can still control the
color balance with filters during shooting, and you can modify
it further during printing, but you can’t alter the contrast level
because it’s inherent in the film. Color films do not have the
contrast control that black-and-white films have (chapter 9).
Just as I have stressed up to this point—and shall continue to
stress throughout this book—I try to make choices based on
maximizing my control of the medium. I suggest you do that,
too. It is my opinion that basing your choice of color film on
contrast rather than color balance maximizes your control.
Bruce Barnbaum
อีกอย่างคือค่าความไวแสงต่างๆของฟิล์ม (Film speed)  เกิดจากสารเคมีไวแสงบนชั้นฟิล์มที่ไม่เท่ากัน จะหนาจะบาง จะไวมากน้อยก็ว่ากันไป

ส่วนคอนทราสหรือความอิ่มสี เกิดจากสารเคมีไวแสง และฟิลเตอร์ ที่แทรกระหว่างชั้นสารไวแสง อาจมีการเพิ่มสารกัน UV,หรืออาจมีการเคลือบสารไม่ไวแสงเพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างชั้นฟิล์มเท่านั้นเองครับ

ตอนแรกเอาแค่หอมปากหอมคอก่อนละกันนะครับ อ้อ... ฟิล์มสีนี่การเก็บรักษามันไม่ได้ยาวนะครับ จะเฟดและสีเพี้ยนไปเรื่อยๆ ใครมารูปสำคัญๆ ก็สแกน หรือปรินท์เก็บไว้จะดีกว่าครับ

แถมเกร็ดอีกหน่อย.... ฟูจิฟิล์มนี่เค้าปรับตัวมาดีมากนะครับ รอรับดิจิตอลต่างกับโกดักยักษ์ใหญ่แต่หลับใน Know How ที่เกิดจากการคิดค้นพัฒนาพวกฟิล์ม พวกน้ำยาพวกนี้ ฟูจินำไปใช้กับสินค้าตัวใหม่ของเค้า คือ เครื่องสำอางค์ ครีมบำรุงผิวนี่ล่ะครับ ขายดีมากๆ ในยี่ปุ่นลามไปถึงจีน ตอนนี้ผลิตไม่ทันกันเลยทีเดียว

ตอนสองจะพยายามมาให้เร็วที่สุดครับ.................สัญญา






No comments:

Post a Comment